วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

“ซันด็อก” ปรากฏการณ์พระอาทิตย์หลายดวงในบรรยากาศ

****การบ้านของ อินโฟ****


วันดีๆ อากาศแจ่มๆ หลายคนอาจเห็นบนท้องฟ้ามีดวงอาทิตย์ถึง 3 ดวง ปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ “ซันด็อก” ซึ่งเกิดจากการหักเหของแสงอาทิตย์ผ่านผลึกน้ำแข็งของเมฆชั้นสูง

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) อธิบาย แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ปรากฏการณ์ซันด็อก (Sun Dog) เป็นการหักเหของแสงอาทิตย์ผ่านผลึกน้ำแข็งของเมฆชั้นสูง “เซอร์รัส” (Cirrus) ที่อยู่สูงจากพื้นดินขึ้นไป 10 กิโลเมตร เมื่อแสงอาทิตย์สะท้อนจึงทำให้เกิดภาพสะท้อนของดวงอาทิตย์ขึ้นข้างๆ ดวงอาทิตย์ คล้ายมีดวงอาทิตย์ 3 ดวง แต่เป็นภาพดวงอาทิตย์ที่บิดเบี้ยว

ปัจจัยของการเกิดปรากฏการณ์นี้คือต้องมีเมฆเซอร์รัส แต่สำหรับเมฆคิวมูรัส (Cumulus) ซึ่งเป็นเมฆชั้นต่ำจะไม่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้น ทั้งนี้ปรากฏการณ์ซันด็อกเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ่อย แต่โดยส่วนตัวแล้ว รศ.บุญรักษากล่าวว่า ไม่ค่อยได้เห็นปรากฏการณ์นี้ชัดๆ ส่วนมากจะเห็นจากภาพที่มีคนบันทึกไว้ และหากค้นดูในกูลเกิล (google) จะพบภาพของปรากฏการณ์นี้จำนวนมาก

ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า ปรากฏการณ์ซันด็อกนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศโลก คล้ายปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด (Halo) แต่ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อแสงอาทิตย์ทำมุมกับผลึกน้ำแข็งของเมฆที่ 22 องศา และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นปกติ ซึ่งเขาเห็นปรากฏการณ์นี้บ่อยๆ ระหว่างโดยสารเครื่องบิน เช่น ระหว่างโดยสารเครื่องบิน จ.สุราษฎร์ธานีก็ได้เห็นปรากฏการณ์นี้ ทั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยเมื่ออากาศเย็นๆ และมากจะพบได้ที่ต่างประเทศ แต่สำหรับเมืองไทยอาจจะเห็นได้ยากเมื่ออยู่ในภาคพื้นดิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น